การทดแทนคุณลักษณะ (อังกฤษ: Attribute substitution) เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่เชื่อว่า เป็นเหตุของความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) และการแปลสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัสผิด (perceptual illusion) หลายอย่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องทำการประเมินคุณลักษณะเป้าหมาย (target attribute) ที่ต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อน แต่กลับใช้คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งแทนที่ ซึ่งเรียกว่า คุณลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) ที่สามารถคำนวนได้ง่ายกว่า (เช่น การประเมินความน่าจะเป็นว่าอยู่ในกลุ่ม โดยใช้ความคล้ายคลึงของบุคคลกับกลุ่ม แทนที่จะใช้อัตราพื้นฐานของความน่าจะเป็น) การแทนที่เช่นนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นในระบบการประเมินแบบรู้เอง (intuitive) ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ระบบที่ต้องอาศัยความคิดพิจารณาที่อยู่เหนือสำนึก ดังนั้น เมื่อเราทำความพยายามที่จะตอบปัญหาที่ยาก เราอาจจะกลับไปตอบปัญหาที่ต่างกันแต่เกี่ยวข้องกัน โดยที่ไม่รู้ว่ามีการแทนที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอธิบายว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ถึงความเอนเอียงต่าง ๆ ของตน และทำไมความเอนเอียงยังดำรงอยู่ได้แม้เมื่อมีการบอกให้รู้แล้ว และอธิบายอีกด้วยว่า ทำไมการตัดสินใจของมนุษย์บ่อยครั้งจึงไม่มีลักษณะของการถอยกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย (regression toward the mean)
ทฤษฎีนี้รวมทฤษฎีต่างหลายอย่างที่อธิบายความผิดพลาดในการคิดหาเหตุผลโดยอธิบายว่า มนุษย์แก้ปัญหาบางอย่างโดยใช้ฮิวริสติกซึ่งเป็นทางลัดในการคิดหาเหตุผล ที่ในบางสถานการณ์ให้คำตอบที่ผิดพลาด ต่อมา ทฤษฎีที่เสนอในปี ค.ศ. 2008 โดยใช้ชื่อว่า effort-reduction framework (โครงสร้างการลดความพยายาม) ก็รวมทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่ง โดยเป็นทฤษฎีที่เสนอว่า มนุษย์ใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อลดความพยายามที่ต้องทำทางใจทำการตัดสินใจ
ในผลงานวิจัยปี ค.ศ. 1974 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแดเนียล คาฮ์นะมัน และอะมอส ทเวอร์สกี้ ได้เสนอว่า กลุ่มความเอนเอียงหลายสกุล (คือ ความผิดพลาดอย่างเป็นระบบในการประเมินและการตัดสินใจ) สามารถอธิบายได้โดยใช้คำอธิบายเกี่ยวกับฮิวริสติก (ทางลัดทางความคิด) รวมทั้งฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย (availability heuristic) และฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน (representativeness heuristic) ในปี ค.ศ. 2002 ดร. คาฮ์นะมันและผู้ร่วมงานได้ปรับปรุงคำอธิบายนี้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า การทดแทนคุณลักษณะเป็นกระบวนการที่เป็นฐานของความเอนเอียงเหล่านั้นและปรากฏการณ์อื่น ๆ
ในปี ค.ศ. 1975 นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเสนอว่า กำลังของสิ่งเร้า (เช่น ความสว่างของแสง หรือความรุนแรงของอาชญากรรม) เป็นสิ่งที่เซลล์ประสาทเข้ารหัส โดยไม่ขึ้นอยู่กับภาวะที่รับรู้จากสิ่งเร้า (Stimulus modality) คือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแสงที่สว่าง หรือเป็นเสียงที่ดังเป็นต้น คาฮ์นะมันและเพื่อนร่วมงานต่อยอดความคิดนี้ โดยเสนอว่า คุณลักษณะเป้าหมาย (target attribute) และคุณลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) อาจเป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติ
มนุษย์ไม่คุ้นเคยคิดมาก และบ่อยครั้งพึงใจที่จะเชื่อถือการตัดสินใจที่พอเป็นไปได้ตามที่คิดได้
ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะสามารถอธิบายความยืนกรานของภาพลวงตาบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินขนาดของบุคคลสองคนในรูปทัศนมิติ ขนาดของบุคคลอาจจะเกิดความบิดเบือนเพราะลักษณะอื่น ๆ ที่แสดงความเป็น 3-มิติ ทำให้เกิดภาพลวงตา สามารถใช้ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะอธิบายได้ว่า มีการแทนที่ขนาด 2-มิติ จริง ๆ ของรูป ด้วยขนาด 3-มิติ เพราะขนาด 3-มิติ เข้าถึงได้ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่เกิดการคำนวณโดยอัตโนมัติในระบบสายตา แต่ว่า จิตรกรและช่างถ่ายภาพผู้ชำนาญการจะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาพลวงตาเช่นนี้น้อยกว่า เพราะว่า ขนาด 2-มิติของรูปสามารถเข้าถึงได้ง่ายในระบบการรับรู้
ดร. คาฮ์นะมันให้อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับการก่อการร้าย ให้กับคนอเมริกันกลุ่มหนึ่งระหว่างที่เดินทางไปในยุโรป ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับความตายทุกประเภท แม้ว่า "ความตายทุกชนิด" จะรวม "ความตายเนื่องกับการก่อการร้าย" คนกลุ่มแรกยินดีที่จะจ่ายเบี้ยประกันมากกว่าคนกลุ่มหลัง ดร. คาฮ์นะมันเสนอว่า มีการใช้ลักษณะคือความกลัว (เป็น heuristic attribute) แทนที่การคำนวณความเสี่ยงอย่างรวม ๆ ในการเดินทาง (ซึ่งเป็น target attribute) เพราะว่า ความกลัวก่อการร้ายในผู้ร่วมการทดลองเหล่านี้ มีกำลังกว่าความกลัวต่อความตายในการเดินทางไปต่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไป
การเหมารวมเป็นแหล่งของคุณลักษณะฮิวริสติกอีกแหล่งหนึ่ง ในการคุยกันตัวต่อตัวกับคนแปลกหน้า การตัดสินความเฉลียวฉลาดของคนแปลกหน้า เป็นการคำนวณที่ซับซ้อนกว่าการตัดสินตามสีผิว ดังนั้น ถ้าเรามีการเหมารวมเกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดของคนขาว คนดำ หรือคนเอเชีย เราก็อาจจะใช้คุณลักษณะทางผิวพันธ์แทนคุณลักษณะทางปัญญาที่ไม่ค่อยชัดเจน ธรรมชาติของการทดแทนคุณลักษณะที่เกิดขึ้นก่อนความสำนึก ที่เป็นธรรมชาติแบบรู้เอง (intuitive) ก็จะอธิบายได้ว่า ทำไมเราจึงได้รับอิทธิพลจากการเหมารวม ทั้ง ๆ ที่เราเองอาจจะคิดว่า เราได้ทำการประเมินที่ตรงกับความจริง ที่ไม่ประกอบด้วยความเอนเอียง เกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดของคนแปลกหน้านั้น
มีนักวิชาการทางกฎหมายที่เสนอว่า การทดแทนคุณลักษณะเป็นไปอย่างกว้างขวางเมื่อเราต้องคิดหาเหตุผลในเรื่องศีลธรรม การเมือง และกฎหมาย คือ เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ที่ยากในเรื่องเหล่านั้น เรามักจะหาปัญหาที่คุ้นเคยกว่าแต่มีความเกี่ยวข้องกัน (ที่เรียกว่า กรณีต้นแบบ หรือ prototypical case) แล้วใช้วิธีแก้ปัญหาต้นแบบ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีใหม่ซึ่งยากกว่า นักวิชาการกล่าวว่า ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่หรือผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองหรือทางศาสนาที่เราเชื่อใจ สามารถใช้เป็นลักษณะฮิวริสติก เมื่อเรามีคำถามเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
แหล่งกำเนิดอีกอย่างหนึ่งของลักษณะฮิวริสติกก็คืออารมณ์ คือ ความคิดเห็นทางศีลธรรมในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่น เพศสัมพันธ์ การโคลนมนุษย์ อาจจะเกิดการขับเคลื่อนโดยปฏิกิริยาทางอารมณ์เช่นความสะอิดสะเอียน (disgust) ไม่ใช่โดยหลักความคิดที่เป็นเหตุผล แต่ว่าทฤษฎีของนักวิชาการนี้มีผู้แย้งว่า ไม่ได้ให้หลักฐานที่พอเพียงว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการทดแทนคุณลักษณะ และไม่ใช่เป็นกระบวนการอื่น ที่มีผลต่อกรณีเหล่านี้
นักจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งทำรายงานชุดการทดลอง ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปใบหน้า แล้วตัดสินว่าเคยเห็นใบหน้าเหล่านั้นมาก่อนไหม มีการพบอย่างซ้ำ ๆ กันว่า ใบหน้าที่ดึงดูดใจ มักจะรับการระบุอย่างผิด ๆ ว่า เคยเห็นมาแล้ว ผู้ทำงานวิจัยตีความโดยใช้ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะ คือ คุณลักษณะฮิวริสติกในกรณีนี้ก็คือ "ความรู้สึกที่แจ่มใสอบอุ่น" ซึ่งเป็นความรู้สึกต่อคนที่อาจจะเป็นคนคุ้นเคย หรือเป็นคนที่ดึงดูดใจ แต่ว่า การตีความเช่นนี้ยังมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ค่าความแปรปรวน (variance) ของความคุ้นเคยทั้งหมด ไม่สามารถอธิบายได้โดยความดึงดูดใจของรูป
ดร. คาฮ์นะมันกล่าวว่า หลักฐานสนับสนุนทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะที่ตรงประเด็นที่สุดก็คือการทดลองในปี ค.ศ. 1973 ที่แสดงลักษณะต่าง ๆ ทางจิตวิทยาของทอม ผู้เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสมมุติ มีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งให้คะแนน "ความคล้ายคลึง" ของทอมกับนักศึกษาทั่ว ๆ ไปในสาขา 9 สาขา (รวมทั้งนิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์) มีการให้อีกลุ่มหนึ่งให้คะแนนว่า "มีความเป็นไปได้เท่าไร" ที่ทอมจะเข้ารับการศึกษาในแต่ละสาขา ถ้าการให้ค่าความเป็นไปได้เป็นไปตามกฎความน่าจะเป็น คะแนนที่ให้ก็ควรจะคล้ายกับอัตราพื้นฐาน (base rates) ซึ่งก็คืออัตราส่วนของนักเรียนในแต่ละสาขา 9 สาขา (ซึ่งมีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มที่ 3 ประเมิน) และการประเมินที่เป็นไปตามความน่าจะเป็นจะต้องกล่าวว่า ทอมมีโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่าบรรณารักษศาสตร์ เพราะว่า มีนักศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่า และข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของทอมที่ให้เป็นเรื่องคลุมเครือและไม่น่าเชื่อถือ แต่ผลปรากฏว่า คะแนนที่ให้เกี่ยวกับความน่าจะเป็น (ประเมินโดยกลุ่มหนึ่ง) เหมือนกับคะแนนที่ให้เกี่ยวกับความคล้ายคลึง (ประเมินโดยอีกกลุ่มหนึ่ง) แทบเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับในอีกการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินความน่าจะเป็นของหญิงสมมุติว่า จะเข้าทำอาชีพแบบไหน ผลเช่นนี้บอกเป็นนัยว่า แทนที่เราจะประเมินความน่าจะเป็นอาศัยอัตราพื้นฐาน เราจะใช้คุณลักษณะเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกันที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าแทนที่
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/การทดแทนคุณลักษณะ_(จิตวิทยา)